นโยบายการเปิดเผยข้อมูล
นโยบายการเปิดเผยข้อมูล
บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน)
บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) และบริษัทย่อย มีความมุ่งมั่นที่จะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศของกลุ่มบริษัทที่ถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนแก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน หรือผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ อย่างโปร่งใส ทันเวลา และเท่าเทียมกัน โดยสอดคล้องกับกฎหมาย หลักเกณฑ์และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในที่นี้ ให้ “ข้อมูลสำคัญ” หมายถึง ผลประกอบการทางการเงิน ผลการดําเนินงาน แผนกลยุทธ์ของบริษัท รูปแบบธุรกิจ การจ่ายปันผล การควบรวมกิจการหรือการลงทุนที่สําคัญ รวมถึงข้อมูลหรือความเห็นอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีนัยสําคัญของบริษัท ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท และ/หรือ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ของบริษัท หรืออาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการลงทุน
1. การเปิดเผยข้อมูล
(1) บริษัทมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างระมัดระวัง ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน และทันเหตุการณ์ โดยปฏิบัติตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศอย่างถูกต้องและครบถ้วน
(2) บริษัทมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศใดที่อาจมีผลต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท หรือข้อมูลที่ถือได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญต่อผู้ลงทุนในการตัดสินใจลงทุน หรือที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้น ต่อสาธารณะโดยทันทีผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ
(3) บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศผ่านทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามที่กําหนด รวมถึงอาจเปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัทผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเองเพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน หรือผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และอาจเปิดเผยข้อมูลผ่านทางช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ ของบริษัท อาทิ การประชุมผู้ถือหุ้น การประชุมนักวิเคราะห์ และกิจกรรมด้านนักลงทุนสัมพันธ์อื่น ๆ
(4) บริษัทมีหน้าที่ปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนและเป็นความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลที่ถือเป็นข้อมูลภายในของบริษัท
ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้ที่มีส่วนได้เสียอื่น ๆ มีสิทธิที่เท่าเทียมกันในการได้รับทราบข้อมูลที่เผยแพร่ของบริษัท
2. ข้อละเว้นในการเปิดเผยข้อมูล
(1) ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจ หรือข้อมูลที่เปิดเผยแล้วอาจทำให้เสียประโยชน์และความสามารถในการแข่งขัน หรือข้อมูลที่ยังไม่มีข้อสรุปหรืออยู่ระหว่างการเจรจา หรือยังมีความไม่แน่นอน
(2) ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เข้าใจผิดต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท
(3) ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นการกล่าวร้ายคู่แข่งทางการค้า
(4) หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูล การให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงินต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันสิ้นสุดไตรมาสหรือรอบปีบัญชี จนกระทั่งบริษัทได้แจ้งข้อมูลผ่านระบบการจัดส่งข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
3. ช่วงเวลาการเปิดเผยข้อมูล
บริษัทจะทำการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในช่วงเวลาดังต่อไปนี้
(1) การเปิดเผยข้อมูลตามรอบระยะเวลาบัญชีต่อหน่วยงานกำกับดูแลตามที่กฎหมายกำหนดไว้
(2) การเปิดเผยข้อมูลตามเหตุการณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหน่วยงานกำกับดูแลกำหนด
(3) การเปิดเผยข้อมูลแก่นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ อาทิ ในการเข้าร่วมประชุมในงานที่จัดโดยหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งการพบปะนักลงทุนในลักษณะต่าง ๆ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม
4. ช่วงระยะเวลางดให้ข้อมูล (Quiet Period)
บริษัทกำหนดให้มีระยะเวลางดให้ข้อมูล (Quiet Period) เป็นเวลา 14 วันก่อนวันประกาศผลการดำเนินงาน จนถึงวันที่ประกาศผลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกันซึ่งอาจจะนำไปสู่การใช้ข้อมูลภายใน หรือการสร้างราคาหลักทรัพย์ ทั้งนี้ในระหว่างช่วงระยะเวลางดให้ข้อมูล บริษัทอาจงดการตอบคำถามใด ๆ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่กำลังจะประกาศ และงดให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มผลการดำเนินงาน ยกเว้นกรณีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงตามที่ได้เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว
5. การดำเนินการกรณีมีข้อมูลรั่วไหลหรือข่าวลือ
เมื่อมีเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ ข่าวลือ หรือข้อมูลสำคัญที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบริษัท หรือข้อมูลสำคัญที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนรั่วไหลไปสู่บุคคลอื่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ ให้ผู้มีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูลทำการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือช่องทางการเปิดเผยต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
ช่องทางการเปิดเผยข้อมูล
เพื่อให้การเผยแพร่และสื่อสารข้อมูลของบริษัทต่อสาธารณชน มีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน บริษัทจึงได้กำหนดช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลดังนี้
(1) การรายงานผ่านช่องทางการเผยแพร่ข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ข้อมูลของบริษัท
(2) การสื่อสารผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท
(3) เอกสารอย่างเป็นทางการของบริษัท รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง รายงานประจำปี/แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1 One Report)จดหมายผู้ถือหุ้น เป็นต้น
6. ผู้ที่มีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูล
ประธานกรรมการบริษัท และ/หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ/หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากประธานกรรมการบริษัท หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ/หรือนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relation) เป็นผู้ที่มีอำนาจในการเปิดเผยข้อมูลสำคัญ โดยหลีกเลี่ยงความเห็นซึ่งมิได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมจากบริษัทก่อน
7. ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์
ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างบริษัทและผู้ถือหุ้น นักลงทุน สาธารณชน และผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ โดยฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเตรียมข้อมูลสำคัญของบริษัทเพื่อเปิดเผยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักลงทุน สาธารณชน และผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ตามที่บริษัทกําหนด และ/หรือ ตามความเหมาะสม
8. การทบทวนนโยบายการเปิดเผยข้อมูล
บริษัทจะต้องทบทวนและปรับปรุงนโยบายการเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้อง และถูกต้องตาม ข้อกำหนดและข้อบังคับทางกฎหมาย และเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 เป็นต้นไป