Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

/
นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน)

                    บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) และบริษัทย่อย มีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม บริหารงานด้วยความโปร่งใสตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้มีการดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร ฝ่ายจัดการและพนักงานในจริยธรรมทางธุรกิจ และเพื่อแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่และความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ บริษัทได้กำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ขึ้น เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับกรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานทุกคนของบริษัทและบริษัทย่อย ให้ยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายนี้

คำนิยาม

                    “การทุจริตคอร์รัปชัน” หมายถึง การกระทำใด ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยตนเองหรือผู้อื่น ทั้งนี้ การทุจริตหมายรวมถึง การยักยอกทรัพย์ การฉ้อโกงหรือการทุจริตในการรายงาน หรือการกระทำไม่ว่าจะเป็นการให้หรือรับสินบน การช่วยเหลือทางการเมือง การให้ของขวัญ หรือเลี้ยงรับรอง การบริจาคเพื่อการกุศล ค่าบริการต้อนรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยการเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ ให้คำมั่น เรียกร้อง ให้หรือรับซึ่งเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ไม่เหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ๆ เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มิควรได้ของบริษัท ตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก หรือเพื่อประโยชน์ของธุรกิจโดยมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกิดจากการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง หรือกระทำผิดต่อกฎหมาย หรือการกระทำใด ๆ ที่ส่อไปในทางคอร์รัปชัน เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้

                    “สินบน” หมายถึง ทรัพย์สินที่มีมูลค่า หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคล หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการ หรือละเว้นซึ่งการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้เพื่อประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ ผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ หรืออาจส่งผลเสียแก่ภาพลักษณ์ของบริษัท

                    “การให้ของขวัญ” หมายถึง การให้เงิน สิ่งมีค่าหรือบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงการสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐหรือ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนหรือผู้มีหน้าที่ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ การส่งเสริมตราผลิตภัณฑ์ หรือชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า ช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

                    “การบริจาคเพื่อการกุศล” หมายถึง การให้เงิน สินค้าของมีค่าหรือบริการในรูปแบบของการบริจาค โดยบริษัทอาจไม่ได้รับผลตอบแทนที่มีตัวตน

                    “การบริจาคเพื่อการสาธารณประโยชน์” หมายถึง การใช้จ่ายเงินเพื่อโครงการ กิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม กลุ่มประชาชน โดยบริษัท อาจไม่ได้รับผลตอบแทนที่มีตัวตน

                    “การช่วยเหลือทางการเมือง” หมายถึง การให้การสนับสนุนทางการเงิน สิ่งของ และการช่วยเหลือในรูปแบบอื่น (In-kind) เช่น การให้บริการ การโฆษณาส่งเสริม หรือสนับสนุนพรรคการเมือง การซื้อบัตรเข้าชมงานที่จัดเพื่อระดมทุน หรือบริจาคเงินให้แก่องค์กรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง เป็นต้น แก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม และ/หรือเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางธุรกิจการค้า เว้นแต่เป็นการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยที่กระทำได้ตามกฎหมายกำหนด

                    “เงินสนับสนุน” หมายถึง เงินสนับสนุนที่จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท

                    “ความขัดแย้งทางผลประโยชน์” หมายถึง การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของบริษัทไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม หรือสถานการณ์ หรือการกระทำที่กรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท ที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ หรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่บุคคลนั้นรับผิดชอบอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม

                    “บริษัท” หมายถึง บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน)

                    “บริษัทย่อย” หมายถึง บริษัทย่อยของบริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน)

                    “กรรมการบริษัท” หมายถึง กรรมการของบริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) และกรรมการของบริษัทย่อย

                    “ฝ่ายจัดการ” หมายถึง บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทในการบริหารจัดการภายในบริษัท รวมถึงบุคคลที่ได้รับการมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวด้วย

                    “พนักงาน” หมายถึง พนักงานประจำ พนักงานทดลองงาน พนักงานรายวัน พนักงานตามสัญญาจ้างพิเศษ ซึ่งบริษัท ตกลงว่าจ้างโดยได้รับค่าจ้าง

                    “เจ้าหน้าที่รัฐ” หมายถึง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามความหมายที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้รวมถึงพนักงานหน่วยงานภาครัฐ เช่น ผู้ตรวจสอบภาษี เจ้าหน้าที่สรรพากร เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ผู้สมัครดำรง ตำแหน่งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง

                    “คู่ค้า” หมายถึง บุคคลที่มีธุรกรรมกับบริษัท เพื่อสนับสนุน หรือส่งเสริมให้เกิดธุรกิจของบริษัท

                    “ผู้เกี่ยวข้องทางธุรกิจ” หมายถึง บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลใดก็ตามที่บริษัทมีการติดต่อสัมพันธ์ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน เป็นต้น

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

                    บริษัทมีนโยบายไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และห้ามกรรมการบริษัท ผู้บริหาร ฝ่ายจัดการ และพนักงานทุกระดับดำเนินการ หรือยอมรับหรือให้การสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชันโดยการเรียกร้อง การให้ หรือยอมรับ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ต่อองค์กร ตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก หรือเพื่อประโยชน์ของธุรกิจโดยครอบคลุมทุกธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบริษัทและบริษัทย่อย เพื่อให้บุคคลดังกล่าวกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มา หรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง และบริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจก็ตาม ตลอดจนให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนดของกฎหมาย และภายใต้ศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ อันเป็นการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือกับการทุจริตคอร์รัปชันจะได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบบริษัทที่กำหนดไว้และ/หรือ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

                    1)     คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่พิจารณาและรับผิดชอบในการกำหนดและอนุมัตินโยบายต่อต้านการทุจริต
คอร์รัปชัน และกำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรของบริษัททุกระดับได้ตระหนักถึงความสำคัญและนำเอานโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ไปปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงให้คำปรึกษา และติดตามการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

                    2)     คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทั้งด้านการเงินและการดำเนินงาน ระบบรายงานทางการเงินและบัญชี รวมถึงติดตามดูแลให้มีระบบบริหารความเสี่ยง ระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในที่เพียงพอ มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท ข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยมีความรัดกุม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งติดตามดูแลให้มีระบบการรับแจ้งเบาะแส และรับข้อร้องเรียนการทุจริตและการกระทำผิดให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้เพียงพอเหมาะสม

                    3)     ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือฝ่ายจัดการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันไปสู่การปฏิบัติโดยกำหนดให้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ และให้การส่งเสริม สนับสนุนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อสื่อสารไปยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ สภาพการณ์ ข้อบังคับ ข้อกำหนด และกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป

                    4)     หน่วยงานตรวจสอบภายใน มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามนโยบาย แนวทาง หรือระเบียบปฏิบัติ และกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่า มีระบบควบคุมที่มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ

                    5)     หน่วยงานบริหารทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจ และส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับยึดถือตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร โดยจะต้องไม่มีพนักงานรายใดที่จะถูกลดขั้นหรือลดตำแหน่ง ถูกลงโทษ หรือได้รับผลกระทบในทางลบจากการที่พนักงานปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี

                    6)     ผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้บังคับบัญชาการทุกระดับ มีหน้าที่กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุนควบคุมดูแลพนักงานในบังคับบัญชาให้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท รวมทั้งกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน ควบคุมดูแล และเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งทบทวนความเหมาะสมของระบบและมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย และปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส มีจรรยาบรรณ

                    7)     พนักงาน บุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานแทนในนามบริษัทและบริษัทย่อย หรือบุคคลที่ได้รับการว่าจ้างในลักษณะสัญญาชั่วคราว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างเคร่งครัด โดยนำหลักการตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กร

แนวปฏิบัติต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

                    กรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ หรือทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ ปฏิบัติงานแทนในนามบริษัทและบริษัทย่อย หรือบุคคลที่ได้รับการว่าจ้างในลักษณะสัญญาชั่วคราว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท อย่างเคร่งครัด ดังนี้

           1. แนวปฏิบัติทั่วไป

                    1)     กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับจะไม่กระทำ หรือดำเนินการใด ๆ ที่จะเป็นการให้ รับ ยอมรับ หรือสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่ากรณีใด ๆ และจะปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเคร่งครัด

                    2)     สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ซื่อสัตย์และยึดมั่นในความเป็นธรรม

                    3)     จัดให้มีการสื่อสารและฝึกอบรมแก่พนักงานภายในองค์กร เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ และพร้อมจะนำหลักการและจรรยาบรรณตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานทั้งองค์กร โดยจะจัดให้มีการอบรม ปฐมนิเทศกรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือพนักงานใหม่เกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้รับทราบ และนำไปปฏิบัติ

                    4)     บริษัทและบริษัทย่อยจัดให้มีกระบวนการบริหารงานบุคลากรที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทและบริษัทย่อยต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่การคัดเลือก การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน และการเลื่อนตำแหน่ง

                    5)     บริษัทจัดให้มีการตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบการควบคุมภายในช่วยให้บริษัทและบริษัทย่อยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบ และช่วยค้นหาข้อบกพร่องจุดอ่อน รวมถึงให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี และนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

                    6)     บริษัทจะจัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส หรือรับข้อร้องเรียนจากบุคคลภายในองค์กร และบุคคลภายนอก และให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทด้วยมาตรการใด ๆ อย่างเต็มความสามารถและเท่าที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัท

                    7)     ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐเปิดเผยแบบแสดงบัญชีรายรับ-รายจ่าย ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

                    8)     นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท หากผู้ใดละเลย ละเว้นและมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตาม นโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีของบริษัท จะถือว่ากระทำผิดวินัย และจะพิจารณาโทษตามระเบียบบริษัท และอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดข้อกำหนดของกฎหมาย

2. แนวปฏิบัติในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

                    เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดทุจริตคอร์รัปชัน บุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อยต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง และเป็นไปตามประมวลจรรยาบรรณของบริษัทและแนวปฏิบัติ ดังนี้

                    1)     แนวทางปฏิบัติการรับหรือการให้ของขวัญ ของกำนัล และการบริการต้อนรับ (Gifts and Hospitality)

                           1.1    การรับของขวัญ ของกำนัล และการบริการต้อนรับ

                                   ก.     ห้ามรับ เรียกรับสินบนรูปแบบใด ๆ เพื่อตอบแทนการให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยมิชอบ และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นรับสินบนแทนตนเอง

                                   ข.     กรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะต้องไม่เรียกร้อง หรือรับของขวัญ การบริการต้อนรับหรือค่าใช้จ่ายอื่นจากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรณีใด ๆ อันจะทำให้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียง หรือลำบากใจ หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์

                                   ค.     การรับสิ่งของ ของขวัญ ของกำนัล หรือการเลี้ยงรับรองในโอกาสหรือเทศกาลอันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่พึงปฏิบัติต่อกันนั้น กำหนดให้กระทำได้โดยต้องกระทำด้วยความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และ/หรือมีความจำเป็นต้องรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคล หรือระหว่างองค์กร

                                   ง.     การขอสนับสนุนในรูปเงินหรือสิ่งของ หรืออันเนื่องมาจากการส่งเสริมการขาย ซึ่งไม่ใช่การรับสินบนและมิใช่เพื่อประโยชน์ของบุคคลใดโดยมิชอบ สามารถกระทำได้ในลักษณะองค์กรกับองค์กร โดยต้องได้รับการลงนามอนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปเท่านั้น

                                   จ.     ให้ผู้บริหาร ตั้งแต่ระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปเป็นผู้แทนองค์กรในการรับสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใด และนำส่งต่อให้แก่ผู้มีหน้าที่ในการรับผิดชอบกิจการเพื่อสังคมนั้น ๆ ภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดนั้น

                                   ฉ.     เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บริษัทและบริษัทย่อยไม่อนุญาตให้พนักงานหรือบุคคลที่บริษัทและบริษัทย่อยมิได้มอบหมายไปเป็นผู้แทนในการรับสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด โดยเด็ดขาด

                                   ช.     กรณีที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และมีความจำเป็นต้องรับไว้ซึ่งสิ่งของหรือผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไป และนำส่งสิ่งของนั้น ๆ ต่อผู้มีหน้าที่ในการรับผิดชอบกิจการเพื่อสังคมนั้น ๆ เพื่อดำเนินการต่อไปตามความเหมาะสม โดยมีการบันทึกรายการสิ่งของที่รับไว้และการดำเนินการกับสิ่งของดังกล่าว

                           1.2    การให้ของขวัญ ของกำนัล และการบริการต้อนรับ

                                   ก.     ห้ามให้ หรือมอบหมายให้ผู้อื่นให้สินบนในรูปแบบใด ๆ เพื่อตอบแทนการให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยมิชอบ

                                   ข.     การให้สิ่งของ ของขวัญ ของกำนัล และการเลี้ยงรับรองในโอกาสเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยมที่คนทั่วไปพึงปฏิบัติต่อกัน หรือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่ไม่สร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือไม่ขัดกับข้อกำหนดตามกฎหมาย สามารถทำได้โดยต้องขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตามอำนาจอนุมัติก่อนดำเนินการ โดยให้ระบุผู้รับให้ชัดเจนในการขออนุมัติค่าใช้จ่ายดังกล่าว

                    2)     แนวปฏิบัติการบริจาคเงินเพื่อการกุศล การบริจาคเพื่อการสาธารณประโยชน์ และการเป็นผู้ให้การสนับสนุน (Charitable Contributions and Sponsorships)

                    บริษัท กำหนดแนวปฏิบัติในการบริจาคเพื่อการกุศล การบริจาคเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเงินสนับสนุน ดังนี้

                                   ก.     ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อศีลธรรม รวมทั้งไม่เป็นการกระทำการใด ๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม

                                   ข.     การบริจาคเงินเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และการให้เงินสนับสนุนนั้นต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน

                                   ค.     การบริจาคเงินเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และการให้เงินสนับสนุน ต้องขออนุมัติตามอำนาจดำเนินการ โดยระบุองค์กรที่รับมอบ วัตถุประสงค์ วันที่ และมูลค่าสิ่งของหรือบริการที่มอบให้ รวมทั้งแนบเอกสารเกี่ยวกับองค์กรที่สนับสนุนหรือบริจาค เช่น รายชื่อผู้ก่อตั้ง กรรมการ เป็นต้น

                                   ง.     ต้องมีหลักฐานการรับสิ่งของ หรือใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับเงินอื่น เช่น หนังสือขอบคุณเป็นต้น

                                   จ.     ในกรณีที่มีข้อสงสัยที่อาจส่งผลกระทบทางกฎหมาย ให้ขอคำปรึกษาจากหน่วยงานกฎหมาย หรือที่ปรึกษากฎหมาย อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือในเรื่องที่มีความสำคัญประการอื่นให้เป็นดุลยพินิจของฝ่ายจัดการ

                    3)     แนวทางปฏิบัติการช่วยเหลือ หรือสนับสนุนทางการเมือง (Political Contribution)

                                  ก.    บริษัทและบริษัทย่อย รวมถึงกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานมีนโยบายดำเนินธุรกิจอย่างเป็นกลาง โดยไม่เข้าไปมีส่วนร่วมหรือกระทำการอันฝักใฝ่พรรคการเมืองใด ๆ

                                  ข.    ไม่นำทรัพยากรของบริษัทและบริษัทย่อยไปใช้สนับสนุนทางการเงิน หรือสิ่งของ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแก่พรรคการเมือง นักการเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการนำไปสู่การติดสินบน

                                  ค.    บริษัทสนับสนุนให้บุคลากรทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองตามกฎหมาย แต่พึงตระหนักที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ รวมถึงไม่นำทรัพยากรของบริษัทและบริษัทย่อยไปใช้เพื่อดำเนินการ หรือกิจกรรมทางการเมือง อันจะทำให้บริษัทและบริษัทย่อยได้รับความเสียหายจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และ/หรือการให้ความช่วยเหลือทางการเมือง หากกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะเข้าร่วมกิจกรรมตามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลบุคลากรทุกคนจะต้องไม่แอบอ้างความเป็นบุคลากรหรือผู้แทนของบริษัทหรือบริษัทย่อยไปใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการใดๆ ในทางการเมือง

                    4)     แนวทางปฏิบัติการจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment)

                      บริษัท ไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในรูปแบบใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะไม่ดำเนินการใด ๆ และไม่ยอมรับการกระทำใด ๆ เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

                    5)     แนวทางปฏิบัติการจ้างเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานรัฐ (Revolving Door)

                                  ก.    บริษัทและบริษัทย่อยไม่จ้างหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานรัฐที่ยังอยู่ในตำแหน่ง เข้าทำงานที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือเป็นการตอบแทนซึ่งผลประโยชน์ใด ๆ

                                  ข.    กำหนดระยะเวลาเว้นวรรค (Cooling-off Period) 2 ปี หรือตามระยะเวลาที่มีกฎหมายระบุไว้เป็นการเฉพาะ สำหรับการแต่งตั้งอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานรัฐที่พ้นจากตำแหน่ง หรือผู้ที่เคยทำงานให้กับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและบริษัทย่อยโดยตรง

                                  ค.    มีกระบวนการตรวจสอบประวัติของบุคคล หรืออดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานรัฐที่อยู่ในกระบวนการการสรรหาก่อนจะแต่งตั้งเป็นกรรมการที่ปรึกษา และผู้บริหารระดับสูง เพื่อระบุสิ่งที่อาจเป็นประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์

                                  ง.    เปิดเผยข้อมูลรายนามและประวัติของบุคคลที่เคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานรัฐ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ที่ปรึกษา กรรมการบริษัท หรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดยระบุเหตุผลของการแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้นในเอกสารรายงานประจำปีของบริษัท

3. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล

                    เพื่อให้นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทได้รับการสนับสนุนและนำไปสู่การปฏิบัติ บริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติดังนี้

                    1)     นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ ให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่ การสรรหา หรือการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน

                    2)     กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบและการควบคุมดูแลปฏิบัติตามนโยบายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                    3)     กรรมการบริษัทและผู้บริหารทุกระดับ จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และส่งเสริมให้พนักงานทุกระดับยึดถือนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและส่งเสริมให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมขององค์กร

                    4)     บริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

                    5)     กรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ ต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทำที่อาจฝ่าฝืนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยบริษัทจัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแส รับข้อร้องเรียน และการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้รายงาน เมื่อพนักงานต้องการแจ้งข้อมูล ข้อร้องเรียน หรือเบาะแส รวมทั้งเมื่อพนักงานต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันจะได้รับการคุ้มครองจากบริษัท

                    6)     นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวินัยในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานบริษัท หากผู้ใดละเลย ละเว้น และมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ากระทำผิดวินัย และจะพิจารณาโทษตามระเบียบบริษัท และอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากการกระทำนั้นผิดข้อกำหนดของกฎหมาย

4. การประเมินความเสี่ยง

                    ให้บริษัททำการประเมินความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมต่างๆ ของบริษัท ที่อาจมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่มีความเสี่ยงด้านทุจริตคอร์รัปชัน โดยให้ทำการทบทวนนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันของบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งทบทวนมาตรการจัดการความเสี่ยงที่ใช้อยู่ให้มีความเหมาะสม ที่จะป้องกันความเสี่ยง หรือ ลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

5. ระบบการควบคุมภายในและการรายงานทางการเงิน

                    1)     ฝ่ายจัดการของบริษัท มีความรับผิดชอบต่อการจัดทำรายงานทางการเงินที่มีความถูกต้องครบถ้วน ทันเวลา และ จัดทำขึ้นตามมาตรฐานบัญชีที่เป็นที่ยอมรับ

                    2)     จัดให้มีระบบการควบคุมภายในเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผล เกี่ยวกับประสิทธิภาพการดำเนินงานความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงิน และการปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ ดังนี้

                                   ก.     กำหนดให้มีระเบียบข้อบังคับ ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

                                   ข.     กำหนดผู้มีอำนาจในการอนุมัติจ่ายเงินและวงเงินที่รับผิดชอบ

                                   ค.     รายการที่บันทึกบัญชี รายการรับ-จ่ายเงิน และค่าใช้จ่ายทุกประเภทต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนมีการอนุมัติตามอำนาจดำเนินการ และบันทึกข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลาตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนด

                                   ง.     บริษัทไม่อนุญาตให้มีการบันทึกข้อมูลที่เป็นเท็จ ผิดหลักการ ไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้อง หรือทำการตกแต่งบัญชี รวมทั้งจะต้องไม่มีบัญชีนอกงบการเงิน เพื่อใช้สนับสนุน หรือปกปิดการจ่ายเงินที่ไม่เหมาะสม

                                   จ.     เก็บรักษาข้อมูล เอกสารหลักฐานการบันทึกบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดและสอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เพื่อสะดวกต่อการเรียกใช้งาน และเมื่อพ้นระยะเวลาที่ต้องเก็บรักษาข้อมูล เอกสารหลักฐาน พนักงานที่รับผิดชอบต้องจัดให้มีการทำลายด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับข้อมูลและเอกสารแต่ละประเภท

                                   ฉ.     สร้างกลไกภายในเพื่อติดตามดูแล และควบคุมระบบการรายงานทางการเงินให้เป็นไปตาม มาตรฐานการบัญชี รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานของทุกส่วนงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและประพฤติมิชอบ

                                   ช.     สร้างจิตสำนึก มีวินัยในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส มีจริยธรรม โดยผู้บริหารและพนักงานทุกระดับมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้องค์กรมีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน

                                   ซ.     ดำเนินการผลักดันให้บริษัทย่อย ตัวแทน นายหน้า คู่ค้า หรือคู่สัญญา ดำเนินตามนโยบาย และแนวปฏิบัตินี้ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน

6. การฝึกอบรมและสื่อสาร

              เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทได้กำหนดแนวปฏิบัติดังนี้

                    1)      การสื่อสาร

จัดให้มีการสื่อสาร เผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้แก่ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ ประกอบด้วย กรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานบริษัท และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

                                   ก.     จัดให้มีการสื่อสารบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งสื่อสารนโยบายเกี่ยวกับ การไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษหรือให้ผลทางลบต่อกรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงาน ที่ปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

                                   ข.     จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท

                    2)     การฝึกอบรม

จัดให้มีการปฐมนิเทศ และฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน

                                   ก.     สนับสนุนให้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร มีส่วนในการให้ความรู้แก่พนักงาน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

                                   ข.     จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเกี่ยวกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท

                    3)      กรณีมีข้อสงสัยหรือข้อแนะนำ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและยกระดับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้สอบถามหรือแจ้งข้อมูลต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อจะได้ร่วมกันพิจารณาและดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป

                    4)     บริษัทถือว่าจริยธรรมและข้อพึงปฏิบัติในนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ เป็นวินัยอย่างหนึ่ง ซึ่งกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงานทุกคน ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายหรือแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ จะมีโทษตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่กำหนดไว้ และ/หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

7. การดูแลให้ปฏิบัติตามและการตรวจสอบภายใน

                    1)      คณะกรรมการบริษัท ส่งเสริมและสนับสนุนให้ฝ่ายจัดการเข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้ได้มีโอกาสแสดงข้อคิดเห็นหรือนำเสนอรายงานที่เป็นประเด็นปัญหา เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

                    2)      บริษัทกำหนดให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน ติดตามและทบทวนความเหมาะสม ความเพียงพอ ความมีประสิทธิภาพของมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเสนอแนะและหารือร่วมกับฝ่ายจัดการที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุง แก้ไขให้เหมาะสมกับธุรกิจของบริษัท โดยมีการรายงานผลการทบทวนต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และ/หรือคณะกรรมการบริษัท อย่างน้อยปีละครั้ง

                    3)      บริษัทกำหนดขั้นตอนการรายงานผลการตรวจสอบ และการรายงานประเด็นเร่งด่วนต่าง ๆ ดังนี้

                                   ก.     หน่วยงานตรวจสอบภายในต้องรายงานผลการตรวจสอบและประเด็นที่ตรวจพบต่อคณะกรรมการตรวจสอบและแจ้งผู้เกี่ยวข้อง

                                   ข.     หากพบว่ามีประเด็นเร่งด่วนให้หน่วยงานตรวจสอบภายในแจ้งตรงไปยังประธานกรรมการตรวจสอบ และ/หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารทันที

                                   ค.     คณะกรรมการตรวจสอบจะเป็นผู้รายงานผลการตรวจสอบประเด็นสำคัญต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป

 
8. การพิจารณาโทษหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

                    1)      หากกรรมการบริษัทฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ ให้บริษัทแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้คณะกรรมการสอบสวนให้ประกอบด้วย กรรมการอิสระทั้งหมดของบริษัท หากการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงในคราวใด มีกรรมการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้เป็นกรรมการอิสระ ห้ามกรรมการอิสระท่านนั้นเข้าเป็นคณะกรรมการสอบสวนในคราวดังกล่าว ในการดำเนินการสอบสวนให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาจากหลักฐานข้อเท็จจริง และสถานการณ์แวดล้อมตามความเหมาะสมในแต่ละกรณี และให้นำเสนอรายงานผลการสอบสวน รวมถึงการพิจารณาโทษให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาต่อไป ทั้งนี้หากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ให้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่กรรมการบริษัทย่อยเป็นผู้กระทำผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำผิด และบริษัทย่อยนั้นไม่มีกรรมการอิสระ ให้ประธานกรรมการบริษัทย่อยนั้นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนด้วย เว้นแต่ประธานกรรมการบริษัทย่อยนั้นเป็นผู้กระทำความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งกรรมการบริษัทย่อยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้นเข้ามาทำหน้าที่ร่วมเป็นคณะกรรมการสอบสวนแทน ให้คณะกรรมการสอบสวนนำเสนอผลการสอบสวนและการพิจารณาโทษต่อคณะกรรมการบริษัทย่อยนั้น ๆ เพื่อพิจารณาต่อไป

                    2)      หากผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ จะมีโทษทางวินัย ซึ่งวิธีการลงโทษจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และสถานการณ์แวดล้อม ทั้งนี้ หากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ให้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

9. การแจ้งเบาะแสข้อร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชันและการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส

               บริษัทได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาและสอบสวนข้อร้องเรียนที่เป็นระบบ โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียนวางใจและเชื่อมั่นในกระบวนการสอบสวนที่เป็นธรรม ตามนโยบายการแจ้งเบาะแส รับข้อร้องเรียนการทุจริตและการกระทำผิด

10. การทบทวนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

               บริษัทกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ อย่างน้อยปีละครั้ง หรือเมื่อมีการ เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือประกาศ คำสั่งที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาเห็นชอบและขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัท

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 เป็นต้นไป