Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

นโยบายการแจ้งเบาะแส รับข้อร้องเรียนการทุจริตและการกระทำผิด

/
นโยบายการแจ้งเบาะแส รับข้อร้องเรียนการทุจริตและการกระทำผิด

นโยบายการแจ้งเบาะแส รับข้อร้องเรียนการทุจริตและการกระทำผิด

บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน)

1. วัตถุประสงค์

                    บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้กรอบของธรรมาภิบาลที่ดี มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการรับข้อร้องเรียนการทุจริต และการกระทำผิด เพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้

                    1.1     เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งเบาะแสการทุจริต การประพฤติมิชอบ และการปฏิบัติที่ขัดต่อระเบียบของบริษัท มีแบบแผนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

                    1.2     เพื่อให้กรรมการ พนักงาน และบุคคลใด ๆ ที่กระทำการแทนบริษัทและบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม และสามารถตรวจสอบได้ โดยสอดคล้องกับกฎหมาย การกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมทางธุรกิจ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งระเบียบต่าง ๆ ของบริษัทและบริษัทย่อย

                    1.3     เพื่อให้ผู้ที่ต้องการแจ้งถึงการปฏิบัติงานของกรรมการ พนักงาน หรือบุคคลใด ๆ ที่กระทำการแทนบริษัทและบริษัทย่อย ที่ขัดหรือสงสัยว่าจะขัดต่อเรื่องดังกล่าวข้างต้นให้บริษัททราบ โดยผ่านช่องทางการแจ้งต่าง ๆ ที่บริษัทจัดเตรียมให้

                    1.4     เพื่อให้ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสและบุคคลใดที่ให้ความร่วมมือกับบริษัท ด้วยความสุจริตใจได้รับความคุ้มครอง รวมถึงได้รับการป้องกันจากการถูกกลั่นแกล้งอันเนื่องมาจากการร้องเรียนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

2. คำนิยาม

                    “บริษัท” หมายถึง บริษัท บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน)

                    “บริษัทย่อย” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

                    “กรรมการ” หมายถึง กรรมการบริษัท

                    “พนักงาน” หมายถึง ผู้บริหาร พนักงาน พนักงานสัญญาจ้าง และลูกจ้างของบริษัท

                    “ระเบียบ” หมายถึง ระเบียบ ระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีผลใช้บังคับ

                    “การประพฤติผิด” หมายถึง การกระทำที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือระเบียบของบริษัทและบริษัทย่อย และนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณทางธุรกิจและนโยบายต่าง ๆ ของบริษัท รวมถึงประพฤติอันมิชอบในรูปแบบ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1

                    “การทุจริต” หมายถึง การกระทำใด ๆ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ซึ่งรวมถึงการกระทำดังต่อไปนี้

                    –     “การลักทรัพย์” หมายถึง การเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไป โดยต้องการ
จะครอบครองทรัพย์นั้นไว้เพื่อตนเอง หรือนำไปขาย หรือให้กับบุคคลที่สาม

                    –     “การยักยอกทรัพย์” หมายถึง การครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และในระหว่างการครอบครองนั้นกลับเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือบุคคลที่สาม

                    –     “การคอร์รัปชัน” ให้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “คอร์รัปชัน” ตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัท

นอกจากนี้ให้รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การรับของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยง หรือประโยชน์อย่างอื่นอัน ไม่เหมาะสม การจัดหา และการกระทำสัญญาอย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งการกระทำที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

                    “ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส” หมายถึง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือคณะกรรมการบริหาร หรือ บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือคณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการบริษัท หรือ บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการบริษัท (แล้วแต่กรณี)

3. ขอบเขตของเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส

                    3.1     กรรมการ พนักงาน หรือบุคคลใด ๆ ที่กระทำการแทนบริษัท อาจถูกร้องเรียนตามนโยบายนี้หากมีการประพฤติผิด ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การใช้กลไกตามนโยบายฉบับนี้อาจครอบคลุมการประพฤติอันมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

  • การกระทำความผิดทางอาญา หรือการยุยงส่งเสริมให้กระทำความผิด
  • การทุจริตที่เกี่ยวข้องกับองค์กร โดยทางตรงหรือทางอ้อม
  • การกระทำที่สุ่มเสี่ยงใด ๆ ซึ่งรวมถึงการทุจริต การให้สินบน และการขู่กรรโชก
  • การไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือระเบียบต่าง ๆ ของบริษัทหรือบริษัทย่อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
  • การกระทำ ความประพฤติ หรือการละเว้นการกระทำในทางบัญชี รายงาน บันทึก รายการ และแนวทางปฏิบัติ และ/หรือการรายงานทางการเงิน หรือการควบคุมภายในที่มีพิรุธ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือแนวทางการปฏิบัติทั่วไป
  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือความปลอดภัยของบุคคลใด
  • เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
  • การกระทำที่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง หรือผิดหลักจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
  • การกระทำโดยเจตนาให้บริษัทและบริษัทย่อยเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง หรือเสียประโยชน์
  • กรณีที่ไม่สามารถแก้ไข หรือดำเนินการตามขั้นตอนอันสมเหตุผล ในเรื่องที่อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่าย หรือความเสียหายร้ายแรงต่อบริษัท โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  • การปิดบังการกระทำความผิดประเภทต่าง ๆ ข้างต้นโดยเจตนา

                    3.2     บริษัทและบริษัทย่อยส่งเสริมให้ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสเปิดเผยตัวตน (เฉพาะกับผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส) และ/หรือให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการประพฤติผิด โดยผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสจะได้รับความคุ้มครองตามข้อ 6.

                    3.3     ในกรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสไม่เปิดเผยตัวตนให้ทราบ เมื่อผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส ได้รับเรื่องร้องเรียน จะพิจารณาถึงข้อมูลประกอบเรื่องร้องเรียนว่า มีข้อมูลที่ระบุรายละเอียดข้อเท็จจริง หรือหลักฐานที่มีชัดเจนเพียงพอหรือไม่ โดยจะไม่รับเรื่องร้องเรียน หากเป็นไปตามกรณี ดังนี้

                              (1)     เรื่องที่ไม่ระบุพยาน หลักฐาน หรือพฤติการณ์กระทำหรือประพฤติผิดที่ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสอบสวนข้อเท็จจริงได้

                              (2)     เรื่องที่ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส รับไว้พิจารณาหรือได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดอย่างเป็นธรรมแล้วและไม่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญเพิ่มเติม

4. บุคคลที่สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส

                    บุคคลใดที่ทราบเรื่องร้องเรียน หรือสงสัยโดยสุจริต ไม่ว่าตนเองจะได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ตามว่ากรรมการ พนักงาน หรือบุคคลใด ๆ ที่กระทำการแทนบริษัทและบริษัทย่อย มีการประพฤติผิด สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสได้ตามช่องทางที่ระบุไว้ในข้อ 9. โดยบริษัทส่งเสริมให้ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส เปิดเผยตัวตน และ/หรือ ให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนมากพอเกี่ยวกับการประพฤติผิดของผู้ถูกร้องเรียน และควรแจ้งข้อมูลในการติดต่อกลับเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับบริษัท

5. การรายงานข้อมูลที่เป็นเท็จ

                    กรณีที่มีหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอว่า ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสมีพฤติการณ์ชัดแจ้งว่าได้แจ้งหรือกล่าวหาผู้ถูกร้องเรียนโดยไม่สุจริต (เช่น เป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการร้องทุกข์ส่วนตัว หรือมีเจตนาทำให้เกิดความแตกแยกภายในบริษัทและ/หรือบริษัทย่อย) หรือในกรณีการเปิดเผยข้อมูลเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นความผิดทางวินัย และอาจถือเป็นการกระทำผิดร้ายแรง บริษัทจะจัดให้มีการดำเนินการสอบสวน เพื่อพิจารณาลงโทษตามระเบียบของบริษัทต่อไป โดยบริษัทจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อปกป้องชื่อเสียงของผู้ถูกร้องเรียน ดังนี้

                    5.1      ในกรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสเป็นพนักงาน ให้ดำเนินการสอบสวน เพื่อพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท

                    5.2     ในกรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสเป็นบุคคลภายนอก และบริษัทได้รับความเสียหาย บริษัทอาจพิจารณาดำเนินคดีกับผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสด้วย

6. การให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

                    6.1      ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส สามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตนเองได้หากเห็นว่าการเปิดเผยดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายกับตนเอง แต่ต้องระบุรายละเอียดข้อเท็จจริงหรือหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการกระทำที่เป็นการทุจริต หรือการประพฤติผิดเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทและบริษัทย่อยส่งเสริมให้ผู้ร้องเรียนเปิดเผยตัวตนให้ทราบ และให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ โดยจะทำให้ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 

                    6.2      ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแส รวมถึงชื่อผู้แจ้งข้อมูลหรือแจ้งเบาะแส บริษัทถือเป็นความลับ และไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น เว้นแต่ที่จำเป็นต้องเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมาย หรือเพื่อการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้รายงานแหล่งที่มาของข้อมูล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส และผู้รับผิดชอบในทุกขั้นตอนจะต้องเก็บรักษาข้อมูลที่ได้รับเป็นชั้นความลับสูงสุด และไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น หากฝ่าฝืนถือเป็นการกระทำผิดทางวินัย

                    6.3      กรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสเห็นว่าตนอาจได้รับความไม่ปลอดภัย หรืออาจเกิดความเดือดร้อนเสียหายผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสสามารถร้องขอให้บริษัท กำหนดมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมก็ได้ หรือ บริษัทอาจกำหนดมาตรการคุ้มครองโดยผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสไม่ต้องร้องขอก็ได้ หากเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเสียหายหรือความไม่ปลอดภัย

                    6.4      กรรมการ หรือพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่ปฏิบัติต่อผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลนั้น อันมีเหตุจูงใจมาจากการที่บุคคลนั้นได้ร้องเรียน ได้แจ้งข้อมูล ร้องเรียนหรือให้เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตหรือการประพฤติผิด รวมไปถึงการที่บุคคลนั้นฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นพยาน ให้ถ้อยคำ หรือ ให้ความร่วมมือใด ๆ ต่อศาลหรือหน่วยงานของรัฐ ถือเป็นการกระทำความผิดวินัยที่ต้องได้รับโทษ ทั้งนี้อาจได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้หากเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย

                    6.5      บริษัทจะไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือดำเนินการใดๆ ในทางลบต่อผู้ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส หรือพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทและบริษัทย่อยสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ

                    6.6      ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการร้องเรียน หรือให้ข้อมูล จะได้รับการบรรเทาความเสียหายด้วยวิธีการหรือกระบวนการที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส เป็นผู้พิจารณา

7. กระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส

                    เมื่อมีการร้องเรียนตามช่องทางที่กำหนดในข้อ 9. หากผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส ตรวจสอบแล้วพบว่าเรื่องร้องเรียนเป็นความจริง โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

                    7.1      ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งถัดลงมาจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือคณะกรรมการบริหาร หรือบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส เว้นแต่ในกรณีที่เรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ เช่น เป็นเรื่องที่กระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์หรือฐานะทางการเงินของบริษัทและบริษัทย่อย ขัดแย้งกับนโยบายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย หรือเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการบริษัท หรือ บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการบริษัท ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส

                    7.2      ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นไป ให้คณะกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการบริษัท หรือ บุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการบริษัททำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ และพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส

                    7.3      ทั้งนี้ ให้ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส แจ้งความคืบหน้าและผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนการประพฤติผิด และการทุจริต ให้กับผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสที่ได้เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ หมายเลโทรศัพท์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) หรือช่องทางติดต่ออื่น ๆ ไว้ อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งด้วยเหตุผลความจำเป็นในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและรักษาความลับบริษัทอาจไม่สามารถให้ข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบสวนได้

                    7.4      ในกรณีที่เรื่องร้องเรียนทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ให้ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส พิจารณาวิธีการบรรเทาความเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไป

8. ขั้นตอนการดำเนินการภายใน

                    8.1      รวบรวมข้อเท็จจริง

                               เมื่อผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส ได้รับข้อร้องเรียน ให้แจ้งการรับเรื่องดังกล่าวไปยังผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส (กรณีที่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสเปิดเผยตนเอง) และ ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติผิดนั้น

                    8.2      ประมวลผล และกลั่นกรองข้อมูล

                               ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส ทำการประมวลผล และกลั่นกรองข้อมูล เพื่อพิจารณาขั้นตอน และวิธีการจัดการที่เหมาะสมในแต่ละเรื่อง

                    8.3      มาตรการดำเนินการ

                               ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส พิจารณามาตรการดำเนินการเพื่อระงับการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ เพื่อพิจารณาบทลงโทษ และบรรเทาความเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายโดยรวมทั้งหมด

                    8.4      รายงานผล

                               ผู้รับ และ/หรือพิจารณาเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส มีหน้าที่รายงานผลให้พนักงานผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสทราบ หากพนักงานผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสเปิดเผยตัวตน

9. ช่องทางในการแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส

                    แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแสสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือเบาะแส ซึ่งอาจร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง โดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเอกสารลับ ดังต่อไปนี้

                    9.1      ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งถัดลงมาจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
                               แจ้งต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือคณะกรรมการบริหาร  ตามช่องทางการรับแจ้งดังต่อไปนี้

                              1.     ไปรษณีย์ถึง บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) เลขที่ 69/1 ซอยบางขุนเทียน 14 ถนนบางขุนเทียน แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

                              2.     อีเมล : excomcommittee@tmanpharmacuetical.com

                              3.     เว็บไซต์ : https://tmanpharmaceutical.com/

                    9.2      ในกรณีผู้ถูกร้องเรียนเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขึ้นไป
                              แจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบ หรือประธานกรรมการบริษัท ตามช่องทางการรับแจ้งดังต่อไปนี้

                              1.     ไปรษณีย์ถึง บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) เลขที่ 69/1 ซอยบางขุนเทียน 14 ถนนบางขุนเทียน แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

                              2.     อีเมล: auditcommittee@tmanpharmacuetical.com

                              3.     เว็บไซต์: https://tmanpharmaceutical.com/

                    ทั้งนี้ บริษัทจะมีการเปิดเผยช่องทางการรับแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนดังกล่าวไว้ในรายงานข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) และเว็บไซต์ของบริษัท

10. การจัดทำทะเบียนและการรายงาน

                    เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท มีหน้าที่จัดทำทะเบียนรับเรื่องร้องเรียนและเบาะแสการประพฤติผิดและการทุจริตและจัดทำรายงานสรุปการรับแจ้งข้อมูลการกระทำผิดและการทุจริตทั้งหมดของบริษัท ทั้งที่ได้ ดำเนินการพิจารณาแล้วหรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบเป็นประจำอย่างน้อยไตรมาสละหนึ่งครั้ง และให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบต่อไป

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 เป็นต้นไป