Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

นโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

/
นโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

นโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน)

                    บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) และบริษัทย่อยให้ความสำคัญกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคาดหวังให้กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทมีการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท บริษัทย่อย และผู้ถือหุ้นของบริษัท และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บริษัทจึงได้จัดทำนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ บนหลักการว่าการตัดสินใจใด ๆ ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท บริษัทย่อย และผู้ถือหุ้นของบริษัท และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมกับรายการหรือธุรกรรมต่าง ๆ ที่พิจารณาต้องแจ้งให้บริษัทและบริษัทย่อยทราบถึงความสัมพันธ์หรือการมีส่วนได้เสียของตนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมในการพิจารณา รวมถึงไม่มีอำนาจในการอนุมัติธุรกรรมนั้น ๆ โดยมีหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้

                    1)      บริษัทและบริษัทย่อยจะพิจารณาป้องกันความขัดแย้งของผลประโยชน์อย่างรอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต อย่างมีเหตุมีผล และเป็นอิสระภายในกรอบจริยธรรมและหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

                    2)      กรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงานพึงละเว้นการประกอบกิจการอันมีสภาพเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท และ/หรือ บริษัทย่อย ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือเข้าเป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจตัดสินใจ กรรมการ ผู้บริหารที่ปรึกษา หรือพนักงานในกิจการที่เป็นการแข่งขัน หรือมีลักษณะเดียวกันกับบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย เว้นแต่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ที่ปรึกษา หรือพนักงาน หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ในกิจการที่เป็นการแข่งขันนั้นก่อนการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ของบริษัทและบริษัทย่อย และได้รายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหรือบริษัทย่อย และ/หรือ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนการแต่งตั้งแล้ว (แล้วแต่กรณี) หรือเว้นแต่จะสามารถแสดงได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย รวมทั้งจะมีมาตรการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อยและผู้ถือหุ้นโดยรวม โดยกรรมการไม่ควรเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่น รวมบริษัทแล้วไม่เกิน 5 บริษัทจดทะเบียน

                    3)      กรรมการ และผู้บริหาร พนักงานทุกคนต้องเปิดเผยรายการธุรกิจหรือกิจการที่ประกอบขึ้นเป็นส่วนตัว หรือของครอบครัว หรือญาติพี่น้อง หรือผู้อยู่ในอุปการะของตน ซึ่งเป็นธุรกิจหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจกับบริษัท และ/หรือ บริษัทย่อย ต่อเลขานุการบริษัท เช่น

                              (ก)     การร่วมลงทุนหรือมีผลประโยชน์กับคู่ค้าที่ประกอบธุรกิจกับบริษัท หรือลูกค้าของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย

                              (ข)     การดำรงตำแหน่งใด ๆ หรือการเป็นที่ปรึกษาของคู่ค้าที่ประกอบธุรกิจกับบริษัทหรือบริษัทย่อย หรือลูกค้าของบริษัทหรือบริษัทย่อย

                              (ค)     การทำการค้าสินค้าหรือการให้บริการกับบริษัท และ/หรือบริษัทย่อยโดยตรง หรือการทำการค้าผ่านบุคคลอื่น

                    4)      ในกรณีแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่ ให้เลขานุการบริษัทแจ้งต่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวทำหนังสือแจ้งรายละเอียดการมีส่วนได้เสีย และ/หรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของตนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มีกับบริษัท และ/หรือบริษัทย่อยในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเป็นหนังสือส่งให้บริษัทรับทราบโดยเร็ว เพื่อที่บริษัทจะได้จัดส่งรายละเอียดดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายรับทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า สิบสี่วัน (14) วันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น และ/หรือ คณะกรรมการบริษัท (แล้วแต่กรณี) เพื่อมีมติแต่งตั้ง

                    5)      กรรมการ และผู้บริหารมีหน้าที่เปิดเผย และนำส่งข้อมูลส่วนได้เสียของตน และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว หรือเมื่อทราบถึงการมีส่วนได้เสียรวมทั้งให้เปิดเผย และนำส่งข้อมูลส่วนได้เสียทุกสิ้นปี โดยรายงานต่อเลขานุการบริษัท และเลขานุการบริษัทจะต้องส่งข้อมูลรายงานการมีส่วนได้เสียนี้ให้ประธานกรรมการ ประธานกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัท ภายในเจ็ด (7) วันทำการนับแต่วันที่ได้รับรายงานการมีส่วนได้เสีย หรือทันทีก่อนที่จะมีการทำรายการ เพื่อให้ทราบถึงความสัมพันธ์และการทำธุรกรรมกับบริษัท และ/หรือ บริษัทย่อย ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดให้เลขานุการบริษัทมีหน้าที่ตรวจสอบรายการที่มีส่วนได้เสียเป็นประจำทุกสิ้นปีของกรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบอย่างน้อยปีละหนึ่ง (1) ครั้ง

                    6)      บริษัท และ/หรือ บริษัทย่อย ควรหลีกเลี่ยงการทำรายการกับบุคคลหรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้เสีย ในกรณีที่จำเป็นต้องทำรายการนั้น ให้มีการนำเสนอรายการดังกล่าวต่อคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นก่อนเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัท หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) ตามนโยบายการเข้าทำรายการระหว่างกันและรายการที่เกี่ยวโยงกัน หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนด

                    7)      กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน จะไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และไม่นำทรัพย์สิน หรือข้อมูลอันเป็นความลับ และ/หรือข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะของบริษัท และ/หรือบริษัทย่อย เช่น แผนงาน รายได้ มติที่ประชุม การคาดคะเนทางธุรกิจ ผลงานจากการทดลองค้นคว้าและวิจัย การประมูลราคาไปใช้ ไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะทำให้บริษัทและ/หรือบริษัทย่อยได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ตาม รวมถึงจะต้องปฏิบัติตามนโยบายการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในและจัดการข้อมูลที่มีผลต่อหลักทรัพย์ของบริษัทโดยเคร่งครัด

                    8)      กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลใด ซึ่งรวมถึงสมาชิกคณะกรรมการชุดย่อย ต้องปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณทางธุรกิจ และต้องไม่ยอมให้ประโยชน์ส่วนตน ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือญาติสนิท มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่ทำให้เบี่ยงเบนไปจากหลักการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทและ/หรือบริษัทย่อยเป็นสำคัญ และหากมีส่วนได้เสียในการประชุมในวาระใดวาระหนึ่ง จะไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และไม่มีส่วนร่วมประชุมในวาระที่พิจารณาเรื่องที่ตนมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

                    9)      กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะต้องไม่เข้าไปมีบทบาทในการตัดสินใจในการรับบุคลากรใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องกับตนเองเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

                    10)      คณะกรรมการบริษัทจะกำกับดูแลให้บริษัทและฝ่ายจัดการทำการเปิดเผยข้อมูลรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างถูกต้องครบถ้วนในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/ รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report)

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2566 เป็นต้นไป